การเรียนรู้เป็นอาสาสมัครกู้ภัย เพื่อช่วยเหลือผู้อื่น

อาสาสมัครกู้ภัย คือ คำที่ใช้เรียกกลุ่มคนผู้มีความเสียสละทั้งทางกายและทางใจ เพื่ออุทิศให้แก่สังคมและเพื่อนร่วมโลก ไม่ว่าจะเป็นมนุษย์หรือสัตว์ โดยไม่คำนึงถึงชนชั้น วรรณะ เชื้อชาติ หรือศาสนา และเป็นผู้ซึ่งยอมเสียสละเวลาส่วนตัว เพื่อช่วยเหลือสังคมโดยที่ไม่หวังผลตอบแทนใดๆ อาสาสมัครกู้ภัยมีหลายประเภท มาจากหลายสายงาน กระจายอยู่ทั่วทุกสารทิศ ไม่ว่าจะเป็นอาสาสมัครกู้ภัยของมูลนิธิต่างๆรวมถึงหน่วยงานทางราชการ แต่ทุกคนมีจุดประสงค์เดียวกัน คือต้องการช่วยเหลือผู้ซึ่งกำลังประสบกับปัญหาไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ให้พ้นจากวิกฤตินั้นๆไปได้ด้วยดี หน้าที่ของผู้ที่เป็น อาสาสมัครกู้ภัย ถึงแม้ว่าการเป็นอาสาสมัครกู้ภัยนั้นจะเกิดจากความสมัครใจของผู้ที่ทำก็ตาม แต่ทุกคนก็ยังคงต้องประพฤติปฏิบัติตนให้อยู่ในกฎเกณฑ์ ระเบียบ ข้อบังคับของหน่วยงานนั้นๆอย่างเคร่งครัดด้วย ไม่ใช่ว่าเป็นอาสาสมัครกู้ภัยแล้วจะทำอะไรได้ตามอำเภอใจ ทั้งนี้เพื่อเป็นการสร้างระเบียบวินัยให้แก่อาสาสมัครกู้ภัยทุกๆคน หน้าที่ของอาสาสมัครกู้ภัยมีหลายอย่างเช่น การออกตระเวนช่วยเหลือผู้ประสบอุบัติเหตุในกรณีต่างๆ การเดินทางไปตามต่างจังหวัด ชนบท หรือถิ่นทุรกันดาร เพื่อนำข้าวของเครื่องใช้ และสิ่งของที่จำเป็นไปแจกจ่ายให้แก่ประชาชนทั้งนี้รวมถึงผู้ที่ประสบภัยทางธรรมชาติ ซึ่งการปลอบโยนผู้ที่เสียขวัญจากสิ่งที่ได้พบเจอก็นับเป็นหน้าที่หนึ่งด้วยเช่นกัน

นอกจากนี้ก็ยังมีหน้าที่ ที่สำคัญอีกหลายอย่างที่ต้องอาศัยความรู้ความสามารถรวมถึงการขวนขวายหาความรู้ของอาสาสมัครกู้ภัยเองด้วย สิ่งนั้นก็คือการช่วยเหลือผู้ได้รับบาดเจ็บ รวมถึงการกู้ภัยในรูปแบบต่างๆ การช่วยเหลือผู้ได้รับบาดเจ็บและการกู้ภัยโดย “อาสาสมัครกู้ภัย” การช่วยเหลือผู้ได้รับบาดเจ็บนั้นมีความสำคัญมาก เพราะในความสำเร็จหรือในความผิดพลาดจากการตัดสินใจในการกระทำนั้น หมายถึง “ชีวิต” ดังนั้นความรู้ความเข้าใจบวกกับความสามารถและความกล้าที่จะช่วยเหลือผู้บาดเจ็บในยาม คับขันจึงมีความสำคัญมาก ทั้งนี้อาสาสมัครกู้ภัยจำเป็นที่จะต้องมีความรู้ทางการแพทย์ไม่มากก็น้อย เพื่อที่จะสามารถนำไปใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ส่วนทางด้านการกู้ภัยนั้นไม่ใช่ว่ารู้วิธีแล้วจะทำได้ทันที ทุกอย่างต้องอาศัยการฝึกฝนจนชำนาญ ดังนั้นอาสาสมัครกู้ภัยที่สนใจในการกู้ภัยจึงจำเป็นที่จะต้องขวนขวายหาความรู้จากที่ ต่างๆเพื่อพัฒนาตนเองอยู่เสมอ ทั้งนี้เพื่อนำไปใช้ได้อย่างถูกวิธี การกู้ภัยแยกออกมาได้หลายชนิด เช่น การดับเพลิง, การโรยตัวจากที่สูงเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยที่อยู่ด้านล่างซึ่งยากที่จะเข้าถึง, การกู้ภัยในอาคาร, การตัด-ถ่างเพื่อนำผู้บาดเจ็บหรือผู้เสียชีวิตออกมาจากรถยนต์ซึ่งประสบอุบัติเหตุ ฯลฯ แล้วแต่ว่าจะเกิดเหตุการณ์แบบไหนขึ้นเมื่อไหร่ ดังนั้นอาสาสมัครกู้ภัยจึงต้องเตรียมพร้อมรับมือกับสิ่งที่อาจจะเกิดขึ้นอยู่เสมอ คือเมื่อเกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันขึ้นอาสาสมัครกู้ภัยจะต้องพร้อมที่จะปฏิบัติหน้าที่อย่างเต็มความสามารถ
แต่อย่างไรก็ตามทั้งการช่วยเหลือผู้ได้รับบาดเจ็บและการกู้ภัยก็จำเป็นที่จะต้องมีผู้รู้เฉพาะทางร่วมช่วยเหลือด้วยเช่นกันเพื่อความไม่ประมาทและกันการผิดพลาด นอกจากนี้ก็ยังมีการช่วยเหลือประชาชนด้วยวิธีการอื่นๆตามแต่ปัญหาอีกด้วย เช่นการจับงูที่เข้าไปอยู่ในที่พักอาศัยเพื่อความปลอดภัยของผู้คนซึ่งก็ต้องอาศัยความรู้อีกเช่นกัน ดังนั้นจึงสรุปได้ว่าอาสาสมัครกู้ภัยคือผู้ที่มีความเสียสละ ปฏิบัติตนต่อผู้อื่นเสมือนเป็นญาติของตน เป็นผู้ซึ่งพัฒนาความรู้ความสามารถของตนเองอยู่เสมอ และให้ความช่วยเหลือเพื่อนร่วมโลกด้วยความเสมอภาค โดยไม่ต้องการสิ่งตอบแทนใดๆ จึงถือได้ว่าอาสาสมัครกู้ภัยเป็นกำลังสำคัญของสังคมในปัจจุบันไปเสียแล้ว