การมีจิตสาธารณะเพื่อให้เกิดในจิตสำนึกของเด็ก

การที่มนุษย์ในสังคมจะแสดงออกซึ่งการมีจิตสาธารณะนั้นเป็นเรื่องที่ยาก หากไม่ได้รับการเลี้ยงดูมาแบบส่งเสริมหรือเอื้อต่อการเกิดพฤติกรรมการมีจิตสาธารณะ สังคมก็จะเป็นไปแบบเห็นแก่ตัว คือ ตัวใครตัวมัน ไม่สนใจสังคมรอบข้างคิดแต่ประโยชน์แห่งตนเท่านั้น ชุมชนอ่อนแอ ขาดการพัฒนา เพราะต่างคนต่างอยู่ สภาพชุมชนมีสภาพเช่นไรก็ยังคงเช่นนั้น ไม่เกิดการพัฒนา และยิ่งนานไปก็มีแต่เสื่อมทรุดลง อาชญากรรมในชุมชนอยู่ในระดับสูง ขาดศูนย์รวมจิตใจ ขาดผู้นำที่นำไปสู่การแก้ปัญหา เพราะคนในชุมชนมองปัญหาของตัวเองเป็นเรื่องใหญ่ ขาดคนอาสานำการพัฒนา เพราะกลัวเสียทรัพย์ กลัวเสียเวลา หรือกลัวเป็นที่ครหาจากบุคคลอื่น ดังนั้น การศึกษาแนวทางและความสำคัญของการมีจิตสาธารณะเพื่อให้เกิดในจิตสำนึกของเด็กและเยาวชนนั้นเป็นเรื่องสำคัญที่เราควรกระทำ เพื่อสังคมที่น่าอยู่ต่อไป ทั้งนี้เพราะเด็กช่วงแรกเกิดจนถึงก่อน 10 ขวบ เป็นช่วงที่เด็กมีความไวต่อการรับการปลูกฝัง และส่งเสริมจริยธรรมเป็นอย่างยิ่ง เพราะเด็กยังเป็น “ไม้อ่อนที่ดัดง่าย” ฉะนั้นการปฏิบัติต่อเด็กอย่างเหมาะสมกับพัฒนาการด้านสังคมและด้านจิตใจของเด็กจะเป็นการป้องกันปัญหาที่จะเกิดขึ้น เพื่อที่จะได้เป็นพลเมืองที่ดีของสังคม ก่อให้เกิดความเข้มแข็งของสังคม จะส่งผลให้ การเมือง เศรษฐกิจ ศีลธรรมในสังคมนั้นดีขึ้น

เด็กที่มีจิตสาธารณะจะมีพฤติกรรมที่แสดงออกถึง ความรับผิดชอบต่อสาธารณสมบัติด้วยการเอาใจใส่ดูแลเป็นธุระ และเข้าร่วมในเรื่องส่วนรวมที่เป็นประโยชน์ร่วมกันของกลุ่ม โดยหลีกเลี่ยงการใช้หรือกระทำที่ทำให้เกิดการชำรุดเสียหายต่อของส่วนรวม การถือเป็นหน้าที่ที่จะมีส่วนร่วมในการดูแล การเคารพสิทธิในการใช้สาธารณสมบัติของผู้อื่น มุ่งปฏิบัติเพื่อส่วน รวมในการดูแลรักษาของส่วนรวม เช่น การทำตามหน้าที่ที่กำหนดการดูแลความสงบเรียบร้อย การรักษาสาธารณสมบัติ รับรู้ถึงปัญหาที่เกิดขึ้น มีส่วนร่วมในการหาแนวทางป้องกันแก้ไข รวมไปถึงการรับอาสาทำบางอย่างเพื่อส่วนรวม เคารพสิทธิของผู้อื่นในการใช้ของส่วนรวม ไม่ปิดกั้นในการใช้ของบุคคลอื่น มีการแบ่งปันหรือเปิดโอกาสให้ผู้อื่นได้ใช้ของส่วน รวม ไม่ยึดครองของส่วนรวมมาเป็นของตนเอง ซึ่งสังเกตได้ ดังนี้

คิดในทางบวก (Positive thinking) คือ คิดในทางที่ดีต่อคนอื่น
มีส่วนร่วม (Participation) คือ การมีส่วนร่วมในการอยู่ร่วมกับผู้อื่น รู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของสังคม การอยู่ร่วมกันอย่างกลมกลืน เกื้อกูล เป็นธรรมชาติ
ทำตัวเป็นประโยชน์ (Useful) คือ เป็นประโยชน์ต่อผู้อื่น ต่อสาธารณะ ต่อสังคม ไม่นิ่งดูดาย อะไรที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะแม้เพียงเล็กน้อยก็จะทำ
ไม่เห็นแก่ตัว (Unselfish) คือ การฝึกเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ซึ่งกันและกัน แบ่งปันของเล่น ของใช้ให้เพื่อน รู้จักให้ทาน
มีความเข้าใจ (Understand) คือ เข้าใจผู้อื่น (Empathy) ไม่ทับถมผู้อื่น ไม่ซ้ำเติมผู้อื่น
มีใจกว้าง (Broad Mind) คือ มีจิตที่กว้างใหญ่ เปิดกว้าง ไม่คับแคบ รับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น รับฟังข้อมูล แสวง หาความรู้ใหม่อยู่เสมอ
มีความรัก (Love) คือ รักเพื่อน รักผู้อื่น เมตตาต่อสัตว์ และพืช
มีการสื่อสารที่ดี (Communication) คือ มีมนุษยสัมพันธ์ที่ดีกับผู้อื่น เล่น และทำงานร่วมกับผู้อื่นได้