การจัดการศึกษาเพื่อเด็กด้อยโอกาส

Joyful Cambodian kid group

คำว่า “เด็กด้อยโอกาส” หรือ “เด็กในสภาวะยากลำบาก”  ล้วนแต่เป็นถ้อยคำที่บอกให้รู้ถึง “เด็กของเรา” กลุ่มใหญ่ๆ กลุ่มหนึ่ง ที่ขาดโอกาสได้รับการดูแลและพัฒนาตนอย่างสมวัย ซ้ำจำนวนไม่น้อยยังตกอยู่ในภาวะของการถูกทำร้ายด้วยการใช้แรงงานอย่างหนักเกินวัย ให้ประกอบอาชีพที่ไม่พึงประสงค์ ตกอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพกายและจิต

“เด็กด้อยโอกาส” หรือ “เด็กในสภาวะยากลำบาก” จึงมีความหมายครอบคลุมถึงเด็กใน ๓ ลักษณะด้วยกันคือ

๑. เด็กที่อยู่ในพื้นที่ที่ทำให้ด้อยโอกาส ได้แก่เด็กในสลัม เด็กในแหล่งก่อสร้าง เด็กชนบทห่างไกล เด็กในเขตชายแดน เด็กตามเกาะแก่งห่างไกล

๒. เด็กที่อยู่ในสถานการณ์น่าห่วงใย ได้แก่เด็กในสถานค้าประเวณี เด็กในโรงงาน เด็กข้างถนนที่ขายพวงมาลัย ขายหนังสือพิมพ์ เร่ร่อน เด็กพิการในลักษณะต่างๆ และเด็กถูกทารุณ ถูกข่มขืน

๓. เด็กที่อยู่ในสถานสงเคราะห์และสถานพินิจ สถานสงเคราะห์หมายถึงที่ที่ให้เด็กเข้ารับการสงเคราะห์อยู่อาศัยและให้การดูแลในด้านต่างๆ ปัจจุบันมีทั้งภาครัฐและเอกชนที่เปิดสถานสงเคราะห์รองรับเด็กๆ ไว้ ส่วนสถานพินิจหมายถึงที่ที่รองรับเด็กซึ่งถูกพิพากษาจากศาลคดีเด็กและเยาวชน ให้กักตัวไว้เพื่อแก้ไขให้มีพฤติกรรมดีขึ้น

“เด็กด้อยโอกาส” ในความหมาย ๓ ลักษณะข้างต้นนี้ ล้วนแต่คือกลุ่มเป้าหมายที่จะต้องให้ความสนใจและดูแลให้การพัฒนาโดยเร็ว ก่อนที่อะไรๆ จะสายเกินไปกว่านี้หรือเลวร้ายจนหลายคน “ช่วยพัฒนาไม่ทันการณ์”

“การจัดการศึกษาเพื่อเด็กด้อยโอกาส” จึงเป็นรูปธรรมหนึ่งที่สำคัญและจำเป็นต่อการช่วยเหลือให้เด็กๆที่ด้อยโอกาส พ้นจากภาวะลำบากของชีวิตต่อไปได้ ตลอดจนสามารถจะยืนหยัดขึ้นมาอย่างมั่นใจ พึ่งพาตนเองได้อย่างมีคุณค่าอยู่ในสังคม

“การจัดการศึกษาเพื่อเด็กด้อยโอกาส” จึงต้องเริ่มต้นด้วยการเปิดมิติใหม่ของ “โรงเรียนและสถานศึกษา” โดยมีข้อควรตระหนักถึงดังนี้

๑.บทบาทการปกป้องเด็ก เป็นบทบาทที่สำคัญในภาวะปัจจุบัน ที่โรงเรียนจะต้องตระหนักเสมอว่ามีหน้าที่ในการ “ปกป้องเด็ก” ไม่ให้หลุดไปจากระบบโรงเรียนเร็วเกินไป ซึ่งการที่จะ “ปกป้องเด็ก” ไว้ได้นั้น จะหนีไม่พ้นเรื่องของ “ข้อมูลเด็กและครอบครัว” ที่แต่ละโรงเรียนจะต้องมีไว้อย่างละเอียดและเป็นข้อมูลที่ปรับเปลี่ยนอยู่เสมอให้ทันสถานการณ์ เพื่อจะทำให้รู้ว่าขณะนี้ครอบครัวของเด็กคนใดกำลังจะย้ายถิ่น กำลังจะให้ลูกออกจากโรงเรียนไปทำงานในลักษณะต่างๆหรือกำลังประสบปัญหาอะไร การติดตามข้อมูลสถานการณ์เหล่านี้ จะช่วยให้ครูรู้เท่าทันและหาทางประสานช่วยในลักษณะต่างๆ เพื่อให้ครอบครัวเข้าใจและยินยอมให้เด็กๆ ได้เล่าเรียนศึกษาต่อไป

๒.บทบาทการคุ้มครองสิทธิของเด็ก โดยเฉพาะ “สิทธิที่จะได้รับการศึกษาขั้นพื้นฐาน” ซึ่งระบบการศึกษาจะต้องแก้ไขอุปสรรคที่ขัดขวางสิทธิในการได้รับการศึกษาของเด็ก โดยเฉพาะกฎระเบียบที่กระทรวงกำหนดไว้นานแล้วและกีดกันเด็กเป็นจำนวนมากไม่ให้ได้รับการศึกษา อาทิ

๒.๑ การต้องมีหลักฐานใบเกิด-ทะเบียนบ้าน เพื่อสมัครเข้าโรงเรียน แม้ปัจจุบันจะยกเลิกระบบนี้แล้วก็ตาม แต่หากเด็กเรียนจบระดับประถม ๖ แล้ว การไม่มีหลักฐานถูกต้อง  มักเป้นอุปสรรคที่เด็กจะก้าวไปรียนต่อในระดับสูงๆ ต่อไป

๒.๒ ระเบียบของกรมการศึกษานอกโรงเรียน ยังมีรอบและมีรุ่นตามปกติ  ทำให้ช่วงเวลาที่เด็กด้อยโอกาสจะเข้าเรียนนั้น ต้องรอคอยจนกว่าจะถึงรอบรับสมัคร  หลายกรณีใช้เวลารอนานหลายเดือน ดังนั้นการแก้ไขให้สมัครเรียนได้ตลอดเวลา ใช้หลักเข้าช้าก็จบช้า  จะช่วยกลุ่มเด็กด้อยโอกาสได้มาก

๒.๓ ระเบียบการสมัครเข้าฝึกวิชาชีพกับ “กรุงเทพมหานคร” และ “กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน” ที่ระบุให้เด็กที่มีอายุ ๑๔ ปีขึ้นไปและเด็กที่จบระดับประถม ๖ แล้วเท่านั้น ที่สามารถสมัครเข้าเรียนได้  เด็กด้อยโอกาสจำนวนไม่น้อยที่อายุไม่ถึง แต่จำเป็นต้องฝึกงานและทำงานควบคู่ไปด้วยจึงหมดสิทธิ์ลง

ตัวอย่างของกฎระเบียบเหล่านี้เป็นเรื่องน่าปวดร้าวใจยิ่ง เพราะเป็นระเบียบที่มาจากหน่วยงานทางการศึกษาและฝึกวิชาชีพ ที่มีหน้าที่ให้การพัฒนาเด็กโดยตรง กลับมีระเบียบที่มากจนกลายเป้นการกีดกันเด็กเสียเอง

๓.การขยายบทบาทของกลไกลเดิมที่ดีอยู่แล้วให้กว้างขวางขึ้น หน่วยงานทางการศึกษามีกลไกสำคัญกลไกหนึ่งที่เป็นประโยชน์ต่อเด็กด้อยโอกาสยิ่ง นั่นคือ “โรงเรียนศึกษาสงเคราะห์”และ “โรงเรียนราชประชานุเคราะห์” กระจัดกระจายอยู่เกือบครบทุกจังหวัด แต่ถึงจะมากเช่นปัจจุบันก็ยังไม่เพียงพอสำหรับเด็กด้อยโอกาสอีกมากที่ต้องการเข้าไปอยู่อาศัยและเรียนรู้รับการศึกษาที่นั่น  จึงควรเพิ่มจำนวนให้มากขึ้นครบทุกจังหวัดจะดีมาก

๔.เปิดโอกาสให้หน่วยงานอื่นๆ ได้มีบทบาทในการจัดการศึกษาเพิ่มขึ้น จุดนี้ต้องเริ่มด้วยความเชื่อมั่นในศักยภาพของหน่วยงานอื่น เชื่อมั่นในความปรารถนาดีและความทุ่มเทเอาใจใส่ของหน่วยงานต่างๆที่กระจัดกระจายอยู่ทั่วไปในสังคม  โดยเฉพาะรูปแบบโฮมสกูลและรูปแบบการศึกษาทางเลือก ที่รัฐต้องสนับสนุนและส่งเสริมให้มากกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

เมื่อความเชื่อมั่นเกิดขึ้นกับผู้รับผิดชอบในกระทรวงศึกษาธิการแล้ว ก็จะมีช่องทางมากมายรวมทั้งความร่วมมืออีกมากประสานเข้ามาช่วยจัดการศึกษาเพื่อเด็กด้อยโอกาสในหลายๆระดับตั้งแต่ระดับเตรียมความพร้อม จนถึงระดับจบขั้นพื้นฐาน ๑๕ ปี

สภาพเช่นนี้จะเกิดขึ้นได้ ก็ด้วยการประมวลภาพที่หน่วยงานต่างๆ และส่วนต่างๆดำเนินการอยู่แล้วหาทางสนับสนุนส่งเสริมให้หน่วยงานเหล่านั้นดำเนินการไปได้อย่างมีคุณภาพมากขึ้นทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพที่ผ่านเกณฑ์การประเมินอย่างเป็นวิชาการ