ถึงเวลาที่เด็กไทยต้องว่ายน้ำเป็นและสามารถช่วยเหลือผู้อื่นได้

อุบัติเหตุในประเทศไทยที่มีอัตราการสังเวยชีวิตเด็กเป็นอันดับหนึ่งนั่นคือการจมน้ำ โดยในแต่ละปีเด็กเสียชีวิตจากการจมน้ำถึงกว่า 1,500 คน หรือ เฉลี่ย 4 คนต่อวันจากกิจกรรมทางน้ำที่หลายคนอาจคาดไม่ถึง ข่าวการสูญเสียลูกน้อยวัย 6 เดือนในอ่างน้ำเป่าลม หรือ การพบศพเด็กวัยหัดเดินที่ขาดการทรงตัวขณะชะโงกหน้าไปในบ่อน้ำหรือโอ่งในสวน เนื่องมาจากการปล่อยให้เด็กอยู่ตามลำพังสร้างความสะเทือนใจอยู่ไม่น้อย นอกจากนี้ประสบการณ์อันน่าสลดของผู้ปกครองบางคนที่สูญเสียลูกสาวซึ่งเป็นนักกีฬาว่ายน้ำทีมเยาวชนของโรงเรียนเพราะเพียงแค่หันไปคุยโทรศัพท์เรื่องงาน ในขณะที่ลูกสาวเป็นตะคริวอย่างกะทันหันและจมดิ่งไปในสระโดยที่ไม่มีใครคาดคิด หรือแม้กระทั่งความพลาดพลั้งของนักเรียนมัธยมที่เกิดเหตุในบ่อ หนอง คลอง แม่น้ำ ในขณะเล่นน้ำช่วงเทศกาลสงกรานต์และถูกกระแสน้ำพัดพาไปอย่างรวดเร็ว เหตุการณ์ต่างๆเหล่านี้เป็นอุทาหรณ์สำคัญที่ทำให้เราตระหนักว่าสาเหตุที่ก่อให้เกิดโศกนาฏกรรมในพริบตาก็คือ ความประมาทในการมองข้ามความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นได้กับเด็กนั่นเอง

นอกจากนี้การช่วยเหลือที่ไม่ถูกวิธีคืออีกหนึ่งสาเหตุสำคัญที่ทำให้อัตราการเสียชีวิตจากการจมน้ำของเด็กไทยสูงกว่าประเทศที่พัฒนาแล้วอีกหลายประเทศ เนื่องจากขาดการฝึกหัดอบรมอย่างจริงจังและต่อเนื่อง ประกอบกับความเชื่อที่ไม่ถูกต้อง เช่นการนำเด็กพาดบนบ่าแล้ววิ่งไปมา หรือ วางบนกระทะขนาดใหญ่เพื่อต้องการให้น้ำระบายออกมาทางปาก หากคุณคือคนหนึ่งที่พบเด็กอยู่ในสภาพที่เพิ่งจมน้ำ โปรดจงระลึกไว้ว่าโอกาสที่คุณสามารถช่วยให้เด็กรอดชีวิตนั้นมีเพียง 3นาทีก่อนที่เนื้อสมองจะเริ่มเสียไปจากการขาดออกซิเจนเพราะเลือดไม่ไปเลี้ยงสมอง ดังนั้นการช่วยเหลือตามความเชื่อที่ว่านั้นจึงอาจเกิดผลเสียในการช่วยชีวิตเด็กที่จมน้ำ เพราะเป็นการทำให้เสียเวลาไปโดยเปล่าประโยชน์ และอาจทำให้สำลักน้ำลงสู่ปอดมากขึ้น วิธีการที่ถูกต้องจึงควรเริ่มจากการดึงเด็กขึ้นมาจากน้ำ หากเด็กไม่หายใจและหัวใจหยุดเต้นให้ผายปอดและนวดหัวใจซึ่งเป็นขั้นตอนสำคัญในการช่วยให้เลือดไปเลี้ยงสมองอย่างต่อเนื่อง การช่วยเด็กที่กำลังจะจมน้ำ หากว่าคุณว่ายน้ำไม่แข็ง หรือ ไม่เป็นเลย คุณควรโยนขอนไม้หรือ วัสดุลอยน้ำ ให้เด็กเกาะไว้ แล้ว เรียกคนอื่นมาช่วยโดยเร็วที่สุด โดย ในระหว่างการนำส่งเด็กจมน้ำไปโรงพยาบาล หากเด็กหัวใจหยุดเต้นหรือเต้นช้า ผู้ปกครองหรือผู้ที่เข้ามาช่วยเหลือควรช่วยกู้ชีพนวดหัวใจเด็กอย่างต่อเนื่องจนเด็กกลับมาหายใจและมีหัวใจเต้นเป็นปกติดี หลังการปฐมพยาบาลเบื้องต้นควรจัดให้เด็กนอนท่าตะแคงและให้ความอบอุ่นจนกว่าจะถึงมือแพทย์

แม้ว่าในปัจจุบันประเทศไทยยังไม่มีมาตรการให้ความรู้ด้านการกู้ภัยทางน้ำแก่บุคคลทั่วไปอย่างแพร่หลาย กระทรวงสาธารณสุขได้มีการกำหนดให้วันเสาร์แรกของเดือนมีนาคมของทุกปี เป็น “วันรณรงค์ป้องกันเด็กจมน้ำ” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างกระแสให้พ่อ แม่ ผู้ปกครอง/ผู้ดูแลเด็ก และเด็ก ตระหนักในเรื่องดังกล่าวโดยมีกิจกรรมที่ช่วยกระตุ้นให้ทุกคนเข้าใจและสามารถนำไปปฏิบัติเพื่อป้องกันและช่วยเหลือเด็กได้อย่างถูกต้อง

การป้องกันนั้นมีความสำคัญมาก นอกจากการเรียนว่ายน้ำของเด็กจึงเป็นสิ่งที่ผู้ปกครองควรมอบให้ลูกเพื่อเป็นเกราะป้องกันตัวได้ในระดับหนึ่ง แต่สิ่งที่สำคัญกว่าสิ่งอื่นใดก็คือ พ่อ แม่ ผู้ปกครอง ควรสละเวลาในการดูแลและใส่ใจในขณะที่ลูกต้องอยู่ใกล้น้ำ รวมถึงการกำจัดแหล่งน้ำในบ้านหรือสร้างรั้วรอบขอบชิดให้กับแหล่งน้ำรอบบ้าน ไม่ควรผลักภาระนี้ให้เป็นหน้าที่ของครู หรือ หน่วยกู้ภัยในการดูแลลูกของคุณ เพราะเวลาเพียงเสี้ยววินาทีอาจทำให้คุณพลาดในการปกป้องชีวิตคนที่คุณรักที่สุดไปอย่างไม่มีวันกลับมาอีกเลย

การศึกษาด้านการกู้ภัยและการช่วยเหลือ

สำหรับเหตุการณ์ร้ายแรงพบว่าปัจจุบันนี้มีเกิดขึ้นเป็นจำนวนมากและแทบจะทุกครั้งที่ไม่สามารถแก้ไขเหตุได้อย่างถูกต้องทันท่วงที เพราะว่า ไม่มีแผนการเตรียมตัว ไม่มีการซ้อมแผน การติดตาม งาน ขาดความใส่ใจ เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า ถึงเวลาที่จะต้องให้ความสำคัญเพื่อลดความสูญเสียที่จะเกิดขึ้น โดยจำเป็นจะต้องศึกษาถึงวิธีการป้องกันที่จะเกิดขึ้นจากภัยต่างๆ เช่น เพลิงไหม้ น้ำท่วม แผ่นดินไหว เคมีหกรั่วไหล แก๊สรั่ว การขู่ลอบวางระเบิด การวางเพลิง เป็นต้น ฉะนั้นจึงจำเป็นต้องมีการวางแผนและฝึกอบรม โดยมีเจ้าหน้าที่ที่มีความรู้ในด้านการกู้ภัยในสถานการณ์ต่างๆเข้ามาช่วยเหลือ

กลยุทธ์ในการปฏิบัติการกู้ภัยก็เป็นสิ่งสำคัญสำหรับผู้สั่งการใช้จัดระบบปฏิบัติงาน ที่เกิดเหตุให้มีประสิทธิภาพสูงสุดเพื่อลดการสูญเสียชีวิตและทรัพย์สิน ทำให้ภัยที่เกิดขึ้นไม่ให้มีผลกระทบร้ายแรงซึ่งมีหลักเกณฑ์การเลือกกลยุทธ์ ดังนี้
1.การช่วยเหลือชีวิตของประชาชนเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด มาก่อนการเลือกการลดความสูญเสียในทรัพย์สินและผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
2. การควบคุมความเสียหายที่กำลังเกิดขึ้นจากอุบัติภัยขณะนั้น อย่างเช่น การกำจัดต้นเหตุของการเกิดเหตุโดยตรง เช่น เพลิงไหม้ หรือน้ำท่วม

สำหรับโรงเรียนสอนกู้ภัยและการช่วยเหลือนั้นมีมากมายให้ได้ศึกษา ยกตัวอย่างเช่น สถาบันฝึกดับเพลิงชั้นสูง ทาฟต้า ซึ่งเป็นสถาบันฝึกดับเพลิงและกู้ภัยชั้นสูงเป็นโรงเรียน ฝึก สอนดับเพลิงและกู้ภัย ให้มีการฝึกดับเพลิงให้กับพนักพนักงานทั่วไป จะเห็นได้ว่าสาธารณภัยสามารถส่งผลกระทบให้แก่ประเทศชาติและประชาชนอย่างมากโดยเฉพาะเมื่อประชาชนไม่ให้ความสำคัญไม่มีความเข้าใจในความเสี่ยงของตนเอง และไม่สามารถดูแลจัดการกับความเสี่ยงนั้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ ย่อมทำให้ตนเองมีสภาพเปราะบางและอาจไม่สามารถหลีกเลี่ยงกับการเป็นผู้ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากสาธารณภัย ดังนั้นสิ่งหนึ่งที่ทุกคนไม่อาจปฏิเสธได้คือ สาธารณภัยเป็นเรื่องใกล้ตัวและอาจได้รับผลกระทบโดยทางใดทางหนึ่งเมื่อใดก็ได้ ฉะนั้นทุกภาคส่วนควรให้ความสำคัญกับเรื่องการลดความเสี่ยงจากสาธารณภัยที่เน้นการมีส่วนร่วมของทุกคน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคธุรกิจ การศึกษา และชุมชนให้มีความเข้าใจ และมีความตระหนักในเรื่องนี้