เรียนรู้กลยุทธ์การช่วยเหลือผู้อื่น

กลยุทธ์การช่วยเหลือ (Rescue) จะเกิดขึ้นโดยทันทีหลังการเกิดภัยพิบัติและทอดระยะเวลาไปได้หลายวัน ขึ้นอยู่กับขนาดของภัยพิบัติที่เกิดขึ้น จุดมุ่งเน้นอยู่ที่การช่วยเหลือคนเจ็บ ผู้ที่ติดค้าง หรือที่ถูกลอยแพ รวมทั้งการระบุตำแหน่งของผู้เสียชีวิต การปรับสภาพของจุดประสบเหตุให้มีความปลอดภัยต่อการเข้าช่วยเหลือ การเข้าสำรวจจุดหรือตำแหน่งของพนักงานที่ต้องการความช่วยเหลือ การเตรียมปัจจัยพื้นฐานที่ต้องการเร่งด่วน อาทิ น้ำดื่ม อาหาร เวชภัณฑ์ ที่พักพิง ฯลฯ รวมถึงการติดต่อกับครอบครัว การแจ้งข่าวแก่ญาติ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

การดำเนินผ่านกระบวนงานองค์กร

ความปลอดภัยของบุคลากร
การทราบตำแหน่งที่อยู่ของบุคลากรเป็นสิ่งที่จำเป็น โดยเฉพาะกับบุคลากรที่อยู่ในพื้นที่ประสบภัย หรืออยู่ในบริเวณใกล้เคียงกับพื้นที่ประสบภัย ที่องค์กรต้องตัดสินใจดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใดในการเคลื่อนย้ายหรืออพยพ การรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับผลกระทบต่อบุคลากรจะเป็นประโยชน์ต่อการให้ความช่วยเหลือที่เหมาะสม

การมีส่วนร่วมของพนักงาน

พนักงานจะเป็นบุคลากรที่สามารถเข้าร่วมในปฏิบัติการช่วยเหลือ โดยการสนับสนุนขององค์กร ตั้งแต่การให้เงินช่วยเหลือสมทบ การเชื่อมโยงทางเว็บไซต์ไปยังหน่วยกู้ภัยเพื่อร่วมบริจาค การให้วันหยุดพนักงานเพื่อจัดกิจกรรมระดมทุน หรือการเปิดระบบบริจาคโดยการหักบัญชีเงินเดือนพนักงาน

ลูกค้าและผู้ส่งมอบ
เปิดโอกาสให้ลูกค้าและผู้ส่งมอบ สนับสนุนด้วยการระดมเงินช่วยเหลือ ผ่านทางการใช้แต้มสะสม หรือการบริจาคในอัตราร้อยละของค่าสินค้าที่จำหน่าย หรือกิจกรรมระดมทุนร่วมระหว่างองค์กร

การประเมินผลกระทบภายในองค์กร
การสื่อสารในองค์กรกับบุคลากร และกับหน่วยประกอบการที่ได้รับผลกระทบ จะช่วยให้องค์กรสามารถประเมินผลกระทบความเสียหาย และความจำเป็นในการช่วยเหลือให้แก่ทีมช่วยเหลือ ข้อมูลที่สำคัญอย่างเช่น พื้นที่ และจำนวนบุคลากรที่ได้รับผลกระทบ จะเป็นประโยชน์ต่อทีมเผชิญเหตุภัยพิบัติในพื้นที่ โดยเฉพาะในกรณีที่มีการดำเนินความช่วยเหลือร่วมกับบริษัทอื่น สามารถล่วงรู้ข้อมูลที่จำเป็นในภาคสนาม เช่น ระดับการเข้าถึงของหน่วยกู้ภัยและหน่วยปฏิบัติการอื่นๆ ในพื้นที่